วิธีการสอนแบบโครงงาน

วิธีการสอนแบบโครงงาน

ความหมาย

เป็นการสอนที่ให้นักเรียนเป็นหมู่หรือรายบุคคลได้ว่างโครงการและดำเนินงาน ให้สำเร็จตามโครงการนั้น นับว่าเป็นการสอนที่สอดคล้องกับสภาพชีวิตจริง เด็กจะทำงานด้วยการตั้งปัญหา ดำเนินการแก้ปัญหาด้วยการลงมือทำจริง เชื่อ โครงการรักษาความสะอาดของห้องเรียน  (สุพิน บุญชูวงค์,2538 หน้า 59)

เป็น กระบวนการแสวงหาความรู้ หรือการค้นคว้าหาคำตอบในสิ่งที่ผู้เรียนอยากรู้หรือสงสัยด้วยวิธีการต่างๆ เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้เลือกศึกษาตามความสนใจของตนเองหรือของ กลุ่มเป็นการตัดสินใจร่วมกัน จนได้ชิ้นงานที่สามารถนำผลการศึกษาไปใช้ได้ในชีวิตจริง การเรียนรู้แบบโครงงาน เป็นการเรียนรู้ที่ใช้เทคนิคหลากหลายรูปแบบนำมาผสมผสานกันได้แก่ กระบวนการกลุ่ม การฝึกคิด การแก้ปัญหา การเน้นกระบวนการ การสอนแบบปริศนาความคิด และการสอนแบบร่วมกันคิด เพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งจากความสนใจ อยากรู้ อยากเรียนของผู้เรียนเอง โดยใช้กระบวนการและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ผู้เรียนจะเป็นผู้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ เพื่อค้นหาคำตอบด้วยตนเอง เป็นการเรียนที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงกับแหล่ง ความรู้เบื้อง สามารถสรุปความรู้ได้ด้วยตนเอง

วัตถุประสงค์        การจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียน
1. มีประสบการณ์โดยตรง
2. ได้ทำการทดลองและพิสูจน์สิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง
3. รู้จักการทำงานอย่างมีระบบ  มีขั้นตอน
4. ฝึกการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี
5. ได้เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหา
6. ได้รู้จักวิธีการต่าง ๆ ในการแก้ปัญหา
7. ฝึกวิเคราะห์  และประเมินตนเอง

การเรียนรู้แบบโครงงาน เป็นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงหลักการพัฒนาการคิดของบลูม (Bloom) ทั้ง 6 ขั้น กล่าวคือ
ความรู้ความจำ (Knowledge)
ความเข้าใจ (Comprehension)
การนำไปใช้ (Application)
การวิเคราะห์ (Analysis)
การสังเคราะห์ (Synthesis)
การประเมินค่า (Evaluation)
และ ยังเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในทุกขั้นตอนของการเรียน รู้ ตั้งแต่การวางแผนการเรียนรู้ การออกแบบการเรียนรู้ การสร้างสรรค์ประยุกต์ใช้ผลผลิต และการประเมินผลงาน โดยผู้สอนมีบทบาทเป็นผู้จัดการเรียนรู้

กระบวนการของกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน

กระบวนการแบ่งเป็น 3 ระยะใหญ่ๆ ด้วยกันคือ
ระยะที่ 1 การเริ่มต้นโครงงาน
เป็น ระยะที่ผู้สอนต้องสังเกต/สร้างความสนใจให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน จากนั้นตกลงร่วมกัน เลือกเรื่องที่ต้องการศึกษาอย่างละเอียด ผู้สอนสร้างความสนใจให้เกิดกับผู้เรียนซึ่งมีหลายวิธี โดยอาจศึกษาเรื่องจากการบอกเล่าของผู้ใหญ่หรือผู้รู้ จากประสบการณ์ของผู้เรียน/ผู้สอน จากเอกสารสิ่งพิมพ์ หรือสื่อต่างๆ จากการเล่นของผู้เรียน จากความคิดที่เกิดขึ้น จากวัตถุสิ่งของที่ผู้สอนนำมาในห้องเรียน หรือจากตัวอย่างโครงงานที่ผู้อื่นทำไว้แล้ว เป็นต้น เมื่อเกิดความสนใจแล้วก็จะถึงการกำหนดหัวข้อโครงงาน โดยนำเรื่องที่ผู้เรียนสนใจมาอภิปรายร่วมกัน แล้วกำหนดเรื่องนั้นเป็นหัวข้อโครงงาน ทั้งนี้จะต้องคำนึงว่าการกำหนดหัวข้อโครงงานนั้นจะกระทำหลังจากการตรวจสอบ สมมติฐานเสร็จสิ้นแล้ว
ระยะที่ 2 ขั้นพัฒนาโครงงาน
เป็น ขั้นที่ผู้เรียนกำหนดหัวข้อคำถาม หรือประเด็นปัญหา ที่ผู้เรียนสนใจอยากรู้ แล้วตั้งสมมติฐานมาตอบคำถามเหล่านั้น ทดสอบสมมติฐานด้วยการลงมือปฏิบัติ จนค้นพบคำตอบด้วยตนเอง ตามขั้นตอนดังนี้
1 ผู้เรียนกำหนดปัญหาที่จะศึกษา
2 ผู้เรียนตั้งสมมติฐานเบื้องต้น
3 ผู้เรียนตรวจสอบสมมติฐานเบื้องต้น
4 สรุปข้อความรู้จากผลการตรวจสอบสมมติฐาน
ใน กรณีที่ผลการตรวจสอบไม่เป็นไปตามสมมติฐาน ผู้สอนควรให้กำลังใจผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนไปแสวงหาความรู้เพิ่มเติม สิ่งที่ไม่ควรกระทำคือการตำหนิหรือกล่าวโทษ ผู้สอนควรกระตุ้นให้ผู้เรียนมีกำลังใจจนสามารถตั้งสมมติฐานใหม่ได้ ในกรณีที่ผลการตรวจสอบเป็นไปตามสมมติฐาน ให้ผู้เรียนสรุปองค์ความรู้จากการค้นพบด้วยการลงมือปฏิบัติของผู้เรียนเอง เมื่อได้องค์ความรู้ใหม่แล้ว ผู้เรียนจะนำองค์ความรู้นั้นไปใช้ในการทำกิจกรรมตามความสนใจต่อไปได้ ผู้เรียนอาจใช้ความรู้ที่ค้นพบเป็นพื้นฐานของการกำหนดประเด็น ปัญหาขึ้นมาใหม่เพื่อ
กำหนดเป็นโครงงานย่อย ศึกษารายละเอียดในเรื่องนั้นต่อไปอีก
ระยะที่ 3 ขั้นสรุป
เป็น ระยะสุดท้ายของโครงงานที่ผู้เรียนค้นพบคำตอบของปัญหาแล้ว และได้แสดงให้ผู้สอนเห็นว่าได้สิ้นสุดความสนใจในหัวข้อโครงงานเดิม และเริ่มหันเหความสนใจไปสู่เรื่องใหม่ ระยะนี้เป็นระยะที่ผู้สอนและผู้เรียนจะได้แบ่งปันประสบการณ์การทำงานและแสดง ให้เห็นถึงความสำเร็จของการทำงานตลอดโครงงานแก่คนอื่นๆ มีกิจกรรมที่ผู้สอนให้ผู้เรียนดำเนินการในขั้นตอนนี้ ดังนี้
1. ผู้เรียนเขียนรายงานเป็นรูปแบบงานวิจัยเล็กๆ
2. ผู้เรียนนำเสนอผลงาน (แสดงเป็นแผงโครงงาน) ให้ผู้สนใจรับรู้ สรุปและนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

ข้อดีและข้อจำกัด

ข้อดี

1.นักเรียนมีความสนใจเพราะได้ลงมือปฏิบัติจริงๆ

2.ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และการทำงานอย่างมีแผน และให้รู้จักประเมินผลงานของตนเอง

3.ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ตามวีธรรมชาติ และให้มีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับผู้อื่น

4.ฝึกให้นักเรียนได้รู้จักแก้ปัญหา เพื่อเตรียมพร้อมที่จะเผชิญสภาพสังคมจริงๆ

ข้อจำกัด

1.เสียเวลามากและเสียค่าใช้จ่ายสูง

2.ประสบการณ์ในชีวิตจริงหลายอย่างไม่สามารถจะวางแผนและทำกิจกรรมได้

3.ถ้าครูไม่มีความรู้เพียงพอ การสอนจะประสบความล้มเหลว

4.อาจทำให้นักเรียนได้รับความรู้ที่เป็นหลักวิชาไม่เพียงพอ

อ้างอิง

ทิศนา  แขมณี. (2551).ศาสตร์การสอน: องค์ความรู้เพื่อการจัดการกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุพิน บุญชูวงค์.(2538).หลักการสอน.กรุงเทพฯ : (ม.ป.ท.).

 

ใส่ความเห็น